FACULTY OF COMMUNICATION ARTS

CHULALONGKORN UNIVERSITY

ประวัติคณะนิเทศศาสตร์

คณะนิเทศศาสตร์เป็นคณะหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่บริเวณริมถนนพญาไท เปิดทำการสอน ครั้งแรกตั้งแต่ปีการศึกษา 2508 เป็นต้นมา โดยใช้ชื่อว่า “แผนกอิสระสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์” ต่อมาในปี พ.ศ.2517 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็น “คณะนิเทศศาสตร์”

ปัจจุบันคณะนิเทศศาสตร์มีอาคารเรียน 2 หลัง คืออาคาร 1 เป็นอาคาร 4 ชั้น และอาคารมงกุฎสมมติวงศ์ 11 ชั้น มีห้องสมุด ศูนย์คอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการในการผลิตสื่อต่างๆ ตลอดจนอุปกรณ์การเรียนการสอน ที่ทันสมัย มีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิกว่า 70 ท่าน มีนิสิตที่ศึกษาอยู่ในระดับปริญญาบัณฑิต และบัณฑิตศึกษา ทุกชั้นปีรวมแล้วประมาณ 1,200 คน

ทุกปีจะมีผู้ผ่านการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในคณะนิเทศศาสตร์ ในระดับปริญญาบัณฑิตหลักสูตรภาษาไทย ประมาณปีละ 150 คน หลักสูตรภาษาอังกฤษ สาขาวิชาการจัดการการสื่อสาร ประมาณปีละ 80 คน และ ระดับบัณฑิตศึกษาประมาณปีละ 90 คน

วันเสาร์ที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังคณะนิเทศศาสตร์ ทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้ายชื่ออาคารมงกุฎสมมติวงศ์ จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านสื่อดิจิทัล ทอดพระเนตรห้องจัดรายการวิทยุ การผลิตรายการวิทยุ และการบันทึกเสียง ห้องกำกับรายการโทรทัศน์ระบบความคมชัดภาพสูง ห้องปฏิบัติการข่าว ห้องปฏิบัติการด้านออกแบบกราฟฟิค และห้องตัดต่อระบบดิจิทัล อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ ก่อสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงริเริ่มงานด้านนิเทศศาสตร์เป็นพระองค์แรกของประเทศ และเพื่อเฉลิมฉลองการดำเนินงานครบ ๔๐ ปีของคณะนิเทศศาสตร์

บิดาแห่งนิเทศศาสตร์

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นจอมปราชญ์รอบรู้ศิลปะวิทยาทุกด้าน ทรงได้รับยกย่องในฐานะผู้ริเริ่มนำวิทยาการ สมัยใหม่มาสู่คนไทย และได้ทรงปรับเปลี่ยนพิธีการต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับกาลสมัย

ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า พระองค์ทรงสนพระทัยด้านเทคโนโลยีการพิมพ์ การใช้การสื่อสารในหลายช่องทาง เพื่อให้เกิดประโยชน์ ในการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้ชาติไทยรอดพ้นการเป็นเมืองขึ้นของประเทศตะวันตก พระองค์ทรงใช้กุศโลบายทางด้านการ ประชาสัมพันธ์ การสื่อสารโน้มน้าวใจให้ประเทศตะวันตกเชื่อถือในตัวพระองค์และสยามประเทศว่า เป็นประเทศที่มีอารยธรรมเจริญ รุ่งเรืองมาช้านานมีวัฒนธรรมที่ดีงามและสามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมตะวันตกได้ พระองค์ได้เล็งเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ ได้สนับสนุนให้พระราชโอรสและพระราชธิดาได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารที่จะรู้เท่าทันชาติตะวันตกและเป็นสื่อ ทางวัฒนธรรมที่สำคัญ นอกจากนี้ พระองค์ยังได้เปิดการสื่อสารระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับราษฎร โดยทำเป็นประกาศต่างๆ เพื่อ สร้างความเข้าใจกับประชาชน อันเป็นการเปลี่ยนแปลงการสื่อสารไปจากดั้งเดิม

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเทิดทูนพระองค์ท่านในฐานะบิดาแห่งนิเทศศาสตร์ และเห็นสมควรที่จะจัดวันเทิด พระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นในวันที่ 18 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพในฐานะที่พระองค์ได้ทรง ริเริ่มวิชาการทางนิเทศศาสตร์ไทยโดยเฉพาะทางด้านการพิมพ์ พระองค์เปรียบดั่ง 'บิดาแห่งนิเทศศาสตร์ไทย' ที่ทำให้วิชาการ ทางนิเทศศาสตร์ไทยเจริญงอกงามรุ่งเรืองมาตราบเท่าทุกวันนี้

ผู้ให้กำเนิดคณะนิเทศศาสตร์ศาสตราจารย์ บำรุงสุข สีหอำไพ

ศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ เป็นผู้บุกเบิกการเรียนการสอนของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นกำลังสำคัญในการจัดตั้ง 'แผนกอิสระสื่อสารมวลชน และ การประชาสัมพันธ์' โดยแรกเริ่มทำหน้าที่เป็นเลขานุการแผนกอิสระฯ จนกระทั่งปี พ.ศ.2513 ผู้ช่วยศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าแผนกอิสระสื่อสารมวลชน และการประชาสัมพันธ์จนถึงปี พ.ศ.2517 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็น ศาสตราจารย์ และได้รับแต่งตั้งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ดำรงตำแหน่งอยู่จนถึงปี พ.ศ.2522 จากนั้นท่านรับราชการมาจนเกษียณอายุราชการปี พ.ศ.2535

ศาสตราจารย์บำรุงสุขเป็นคนที่ทุ่มเทให้กับงาน คณะนิเทศศาสตร์เปรียบเสมือน 'บ้าน' ที่ท่าน เพียรก่อสร้างรากฐาน เพื่อให้บ้านน้อยหลังนี้มีความมั่นคงมากที่สุด โดยในปีการศึกษา 2508 อันเป็นปีที่แผนกอิสระสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์ก่อตั้งขึ้นมานั้น ท่านได้ร่างหลักสูตร การเรียนการสอนที่รวบรวมอาจารย์ชื่อดังในสาขาวิชานั้นๆ มาประสิทธิประสาทวิชาความรู้แก่ นิสิต

ท่านจึงเป็นเสมือน 'พระผู้สร้าง' อย่างแท้จริงที่ชาวนิเทศศาสตร์พึงรำลึกถึงอยู่เสมอ ภายหลัง การถึงแก่กรรมของศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา ลัย ร่วมกับสมาคมนิสิตเก่านิเทศศาสตร์ได้ก่อตั้ง 'มูลนิธิบำรุงสุข สีหอำไพ' เพื่อเป็นการรำลึก ถึงครูผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ โดยมีเป้าหมายให้มูลนิธิเป็นองค์กรสำคัญในการพัฒนาวิชาชีพทางด้าน นิเทศศาสตร์แก่สังคมสนับสนุนงานวิจัยต่างๆ