ข่าวสารและกิจกรรม

นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพจัดพิธีปิดการฝึกอบรม มอบประกาศนียบัตรให้แก่ตัวแทนจากองค์กรสื่อผู้เข้าร่วมฝึกอบรมด้านนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ และจัดงานเสวนานโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อเพื่อขยายผลต่อยอดจากการเรียนรู้จากการฝึกอบรมส่งเสียงสู่สาธารณะ

Posted on : 2024-08-13

นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพจัดพิธีปิดการฝึกอบรม มอบประกาศนียบัตรให้แก่ตัวแทนจากองค์กรสื่อผู้เข้าร่วมฝึกอบรมด้านนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ และจัดงานเสวนานโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อเพื่อขยายผลต่อยอดจากการเรียนรู้จากการฝึกอบรมส่งเสียงสู่สาธารณะ

วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม 2567 เวลา 11.00 น. อาจารย์ไศลทิพย์ จารุภูมิ รองคณบดี ฝ่ายบริหาร คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพิธีปิดการฝึกอบรมและมอบประกาศนียบัตรให้แก่ตัวแทนจากองค์กรสื่อทั้ง 18 ท่าน ณ หอประชุมนิเทศศาสตร์ ชั้น 11 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกล่าวข้อคิดในพิธีปิดการฝึกอบรมว่า ผู้เข้าอบรมทุกท่านเป็นเหมือนหัวหอกที่เป็นหมุดหมายตัวแรกของกลไกในป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อและขอบคุณทางทีมงานและหัวหน้าโครงการที่มีส่วนร่วมในการคิดโครงการนี้เพราะเราทุกคนเห็นถึงความรุนแรงในประเด็นนี้ที่เกิดขึ้นในสังคมและในองค์กรสื่อ หมุดหมายตัวนี้สำคัญทุกคนต้องร่วมกันตอกหมุดและย้ำให้มันลงหลักให้ได้และสักวันมันจะสำเร็จ
 
งานเสวนานโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุม ดร.เทียม โชควัฒนา ชั้น 3 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยผลักดันการสร้าง พัฒนานโยบาย และกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ อาจารย์ไศลทิพย์ จารุภูมิ รองคณบดี ฝ่ายบริหาร คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพิธีเปิดการเสวนาโดยกล่าวว่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่คณะนิเทศศาสตร์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรและจัดฝึกอบรมด้านนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ ให้กับผู้บริหารสื่อและผู้สื่อข่าว ปัญหาการคุกคามทางเพศถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก จากรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบว่า กว่าร้อยละ 87 ของคดี การถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่เคยถูกรายงาน  แสดงว่ายังมีความรุนแรงอีกมากที่ยังถูกซุกซ่อนไว้ ด้านกรณีศึกษาการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อในประเทศไทย พบว่า การคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อมีตั้งแต่ระดับการคุกคามทางเพศด้วยวาจาในห้องข่าว การวิพากษ์วิจารณ์แหล่งข่าวที่ตกเป็นข่าวในเรื่องความรุนแรงทางเพศ การลวนลามเนื้อตัวร่างกาย ถ้ำมองผู้สื่อข่าวหญิงในห้องน้ำ รวมทั้งการล่วงละเมิดทางเพศในระหว่างที่มีการทำข่าวภาคสนาม เป็นต้น การพัฒนาหลักสูตรและการจัดฝึกอบรมนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อให้แก่ผู้บริหารสื่อและผู้สื่อข่าวในครั้งนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
 
อ.ดร.ชเนตตี ทินนาม หัวหน้าโครงการ กล่าวรายงานในช่วงพิธีเปิดการเสวนาว่า ผลสำรวจในประเทศไทย 1 ใน 4 ของคนที่ทำงานมีโอกาสที่จะเผชิญกับสถานการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศและคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นปัญหาระดับโลก ที่คุกคามสวัสดิภาพในการทำงานของทุกคน และมันมีราคาที่ต้องจ่าย ซึ่งมาจากการใช้อำนาจในการแสวงผลประโยชน์ในเรื่องเพศ กลไกการคุกคามทางเพศในที่ทำงานจึงไม่สามารถนิยามการคุกคามทางเพศเหมือนการคุกคามที่เกิดขึ้นในที่อื่น ๆ ได้ หลังจากอบรมเราได้ข้อสรุปในการสร้างร่างฉบับแรกขึ้นเรียบร้อยแล้วและจะพยายามผลักดันให้ร่างชุดตรงนี้เกิดการปฏิบัติขึ้นจริง เพราะว่ามีการสะท้อนที่สำคัญของนักข่าว ผู้บริหารสื่อ ประโยคที่สำคัญ คือ อุปนายกสมาคมนักข่าวได้บอกว่าสื่อทำงานหนักอย่างมากเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เมื่อมองกลับมาเรื่องสิทธิของผู้สื่อข่าว แทบจะไม่มีใครมองย้อนกลับมาดูเรื่องสิทธิเสรีภาพบนเนื้อตัวร่างกายของพวกเขาเลย มันเป็นวรรคทองที่จะต้องขีดเส้นเอาไว้ สื่อมวลชนไม่สามารถเกิดมาตรฐานหรือคุณภาพที่ดีได้ถ้าหากคนในองค์กรไม่เคยได้รับการดูแลในเรื่องความปลอดภัยของเนื้อตัวร่างกาย ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระดับของสิทธิมนุษยชน หวังว่าการเสวนาในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการส่งเสียงและส่งพลังเรื่องเสียงต่าง ๆ เหล่านี้ให้หยุดการคุกคามทางเพศและองค์กรสื่อจะกลายเป็นต้นแบบที่สำคัญของสังคมเพื่อทำหน้าที่เป็นทั้งกระจกและตะเกียงนำทางให้กับสังคม

การจัดเสวนาในครั้งนี้ เป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ ได้รับการร่วมมือระหว่างคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ UNESCO) ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคม เสริมสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการทำงานสื่อผ่านการเปลี่ยนแปลงเชิงกลไกและนโยบายเพื่อป้องกันปัญหาการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ