Posted on : 2019-01-31
วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม 2562 ครบรอบ 26 ปี “วันบำรุงสุข” ศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ คณาจารย์ บุคลากร และศิษย์เก่านิเทศศาสตร์ ร่วมกันทำบุญระลึกถึง ศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ ผู้ก่อตั้งคณะนิเทศศาสตร์
เด็กนิเทศ จุฬาฯ หลายคนยังเข้าใจว่า ดร.เทียม โชควัฒนา คือผู้ก่อตั้งคณะ เพราะเคยเข้าไปนั่งเรียน นั่งหลับ ดูละครเวที ดูหนังกางจอ หรือทำกิจกรรมในห้องประชุมใหญ่ที่ชั้น 4 อาคาร 1 เป็นประจำ
ความจริงแล้ว ชายผู้ก่อตั้งอาณาจักรสหพัฒน์คนนี้เป็นผู้สนับสนุนเงินก่อสร้างห้องประชุมที่ทุกคนคุ้นเคย แต่ไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งคณะ เพราะคนที่วางรากฐานที่นี่ตั้งแต่ศูนย์ คือ ‘อาจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ’
ถ้าพูดถึงการก่อตั้งคณะนิเทศศาสตร์ ก็คงเหมือนนวนิยายเรื่องยาว
เริ่มต้นที่อาจารย์หนุ่มคณะครุศาสตร์ ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนด้านโสตทัศนศึกษาไกลถึงสหรัฐอเมริกา สิ่งที่เขาค้นพบคือ สื่อที่นั่นทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือวิทยุ ต่างมีอิทธิพลต่อประชาชนอย่างเหลือเชื่อ และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เขาเชื่อมั่นว่า เมืองไทยเองก็คงหนีไม่พ้นวัฏจักรนี้เช่นกัน แม้ว่าในเวลานั้น สื่อในสังคมบ้านเราจะไม่มีเสรีภาพมากนัก และยังถูกมองว่า เป็นอาชีพของพวกไม่มีจะกิน หรือพวกเต้นกินรำกิน
หลังกลับมา เขาพยายามโน้มน้าวให้ผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัยเปิดสอนด้านการสื่อสารมวลชน ช่วงแรกไม่มีใครเห็นด้วยเลย แต่ชายหนุ่มก็เพียรพยายามอธิบายว่าเรื่องเหล่านี้คือความทันสมัย และเทคโนโลยียิ่งพัฒนาเท่าใด คนก็ยิ่งเข้าถึงสื่อง่ายขึ้นเท่านั้น หากไม่รีบผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ คงได้ชื่อว่าเป็นประเทศล้าหลังไปอีกนาน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงยินยอมให้จัดตั้งแผนกสื่อสารมวลชนและประชาสัมพันธ์ เมื่อปี 2508 โดยมีอาจารย์เกษม อุทยานิน คณบดีคณะรัฐศาสตร์ รักษาการหัวหน้าแผนกชั่วคราว ขณะที่อาจารย์บำรุงสุข รับหน้าที่เป็นเลขานุการแผนก โดยช่วงแรกใช้ห้องเก่าๆ ที่ตึกจามจุรี 1 ซึ่งเต็มไปด้วยฝุ่นและหยากไย่ ปรับปรุงมาเป็นสำนักงาน
แต่สิ่งที่ยากกว่าการเตรียมสถานที่หรือหลักสูตร คือการเปลี่ยนความคิดให้คนทั้งสังคมเห็นว่า วิชาชีพนิเทศศาสตร์จำเป็นต่อบ้านเมืองอย่างไร?
พ่อแม่บางคนนึกว่าลูกเรียนเป็นนักเทศน์ แข่งกับพระก็มี เพราะเห็นคำว่า ‘เทศๆ’ เหมือนกัน ว่ากันว่านิสิตรุ่นแรกๆ ต้องมานั่งอธิบายพ่อแม่ว่าเรียนไปทำไม พี่บูลย์ รุ่น 4 แห่งแกรมมี่เคยเปิดใจว่า ตอนเข้านิเทศใหม่ๆ เตี่ยเตือนว่า "เรียนป๊อจั๊ว (หนังสือพิมพ์) จะรวยเหรอเนี่ย" อากู๋ก็เลยตอบไป "แต่มันจุฬาฯ นะ เอาไว้ก่อน” เตี่ยก็เลยให้เรียน
อาจารย์บำรุงสุขพยายามอย่างหนัก เพื่อยกฐานะของศาสตร์นี้ให้ทัดเทียมกับคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย ทั้งการขอประทานนาม ‘นิเทศศาสตร์’ จาก พล.ต. พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เพื่อใช้เป็นชื่อปริญญาบัตร รวมถึงเดินสายไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่ออธิบายความจำเป็นที่ต้องมีบัณฑิตสายนี้อยู่ในองค์กร จนเกิดตำแหน่งประชาสัมพันธ์จังหวัด ฝ่ายการตลาด ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายโฆษณา ในองค์กรห้างร้านต่างๆ มากมาย
เพียงไม่กี่ปี จากคณะปลายแถวของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิเทศศาสตร์ก็สามารถก้าวขึ้นไปสู่คณะที่มีคะแนนสูงอันดับต้นๆ บางปีเป็นคณะที่คะแนนสูงสุดที่สุดของประเทศด้วยซ้ำ
หากแต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือวงการสื่อมวลชนเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และมีอิทธิพลอย่างมากต่อคนทั่วโลก แม้บางครั้งจะมาในรูปแบบใหม่ๆ อย่าง Facebook หรือ Twitter แต่นั่นก็เป็นเครื่องยืนยันว่า สิ่งที่อาจารย์คาดการณ์ไว้ได้กลายเป็นจริง
เขียน : ช่อน-สุทธิโชค จรรยาอังกูร 40 / ปณัสย์ พุ่มริ้ว นัทร้อน 40
ที่มา : สายใย มกราคม 2562 ฉบับนิเทศซูเปอร์ฮิต