จุฬาฯ-นิด้า-มธ.เดินหน้าความร่วมมือทางวิชาการสู่ความเป็นเลิศจัดประชุมวิชาการระดับชาติ-นานาชาติและกิจกรรมวิชาการต่อเนื่อง
นิเทศฯ จุฬาฯ จับมือพันธมิตรทางวิชาการร่วมกับ นิเทศฯ นิด้า และวารสารฯ มธ. สร้างความเป็นเลิศทางวิชาการร่วมกันเป็นปีที่สอง เดินหน้าจัดงานประชุมวิชาการการสื่อสารระดับชาติเป็นปีที่สองในกลางกรกฎาคมนี้ เผยขยายความร่วมมือทางวิชาการในด้านอื่นๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง แย้มเตรียมจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติอย่างยิ่งใหญ่ในต้นปีหน้า
ศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตามที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนามในความร่วมมือทางด้านวิชาการ (MoU) กับคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรม สถาบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา และได้ร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติขึ้นโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ จากผู้เข้าร่วมนำเสนอบทความวิชาการ ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการอุดมศึกษาไทยนั้น ในปีนี้นิเทศฯ จุฬาฯ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติปีที่สอง ต่อจากวารสารฯ มธ. รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง โดยในปีนี้ได้รับความสนใจจากนิสิตและคณาจารย์จากหลากหลายสถาบัน ทั้งจุฬาฯ เอง นิด้า ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นต้น ส่งบทความเพื่อให้พิจารณานำเสนอในที่ประชุมเป็นจำนวนมากกว่า 100 บทความ
“ปีนี้เป็นปีที่เราได้รับการตอบรับจากนิสิตและคณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ส่งบทความเข้าร่วมนำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติมากกว่าปีที่ผ่านมา และเราก็ยังไม่ได้รับความกรุณาจากคณาจารย์สถาบันต่างๆ ช่วยอ่านประเมินบทความที่จะนำเสนอในที่ประชุมวิชาการครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะเราได้ปิดรับบทความวิชาการแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการตอบรับและจัดลำดับการนำเสนอบทความ จึงขอเชิญชวนท่านที่สนใจสามารถเข้าร่วมฟังการนำเสนอบทความวิชาการได้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ในวันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคมนี้ ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. ที่ชั้น 10 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ”
ศ.ดร.ปาริชาต กล่าวต่อไปว่า “คณะกรรมการจัดงานปีนี้ได้เพิ่มความพิเศษในการประชุมวิชาการปีนี้ โดยจะมีการพิจารณาบทความวิชาการที่ส่งมานำเสนอในที่ประชุม คัดเลือกให้รางวัลบทความดีเด่น ความบทดี และความบทชมเชย โดยมีรางวัลเป็นของที่ระลึกจากสามสถาบัน ประกาศเกียรติคุณจากคณบดีสามสถาบัน และพิเศษยิ่งไปกว่านั้น บทความที่ได้รับรางวัลเหล่านี้ จะได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการของทั้งสามสถาบัน ซึ่งทุกเล่มอยู่ในฐานข้อมูล TCI อีกด้วย”
ศาสตราจารย์ ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ นิด้า กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากการจัดงานประชุมทางวิชาการการสื่อสารระดับชาติครั้งนี้แล้ว คณะทำงานทั้งจากสามสถาบันยังได้เตรียมร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกในต้นปีหน้า เพื่อร่วมกันยกระดับมาตรฐานทางวิชาการยิ่งขึ้นไป
“เราแต่ละสถาบันมีประสบการณ์ในการจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติกันมาแล้ว แต่ที่ผ่านมาเราต่างคนต่างจัด หรือจัดร่วมกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศกันมาหลายปี มาคราวนี้เราคุยกันว่าเราน่าที่จะร่วมกันเป็นแกนนำในจัดงาน โดยดึงพันธมิตรจากต่างประเทศมาร่วมจัดด้วย เราเตรียมตัวกันมากว่าครึ่งปีแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานในรายละเอียด คาดว่าจะจัดในต้นปีหน้า ซึ่งนิเทศฯ จุฬาฯ จะรับเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติครั้งแรกนี้” ศ.ดร.ยุบล กล่าว
ทางด้านของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงความร่วมมือทางวิชาการของสามสถาบันในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากการจัดงานประชุมวิชาการสามสถาบัน ทั้งระดับชาติและนานาชาติว่า คณะทำงานสามสถาบันได้วางแผนจัดกิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการร่วมกันในด้านอื่นๆ ทั้งการพัฒนาความเข้มแข็งในกลุ่มอาจารย์และนิสิตนักศึกษา โดยที่ผ่านมาทางจุฬาฯ ก็เป็นเจ้าภาพจัดโครงการพัฒนาศักยภาพวารสารวิชาการเข้าสู่ฐานข้อมูลในระดับอาเซียน และงานเครือข่ายนิสิตประชาสัมพันธ์
“วารสารวิชาการของเราทั้งสามสถาบัน ขณะนี้อยู่ในฐานข้อมูล TCI 2 เราจึงร่วมกันที่จะพัฒนาวารสารวิชาการของแต่ละสถาบันให้ก้าวขึ้นสู่ฐานข้อมูล TCI 1 และฐานข้อมูลอาเซียน ดังนั้น ทางจุฬาฯ จึงเป็นเจ้าภาพจัดโครงการพัฒนาศักยภาพวารสารวิชาการขึ้น โดยเชิญวิทยากรจากศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai-Journal Citation Index Centre) มาบรรยายให้ความรู้และฝึกปฏิบัติการประเมินวารสารวิชาการ” คณบดี คณะวารสารศาสตร์ฯ กล่าวและว่า
“นอกจากนี้ ทางจุฬาฯ ยังได้จัดโครงการเครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ (PR Network) โดยรวมนิสิตนักศึกษาเอกการประชาสัมพันธ์จากหลากหลายสถาบันการศึกษาในการสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และรับความรู้จากวิทยากรต่างประเทศมาเล่าถึงประสบการณ์การทำงาน ตลอดจนการฝึกปฏิบัติ วางแผนงานประชาสัมพันธ์จากโจทย์จริงอีกด้วย” ผศ.ดร.อัจฉรากล่าว
ศ.ดร.ยุบล กล่าวเสริมอีกด้วยว่า “ทางนิด้าและธรรมศาสตร์เองก็ได้เตรียมโครงการจัดฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพอาจารย์ผู้สอนของทั้งสามสถาบันภายในชื่อโครงการ Training for the Trainer เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ๆ ในวงการนิเทศศาสตร์ ตลอดจน สร้างมาตรฐานร่วมกันในทางวิชาการ ” ศ.ดร.ยุบล กล่าวในตอนท้าย