ข่าวสารและกิจกรรม

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ยกเครื่องปรับปรุงหลักสูตรใหม่ 5 หลักสูตร "ตรี-โท-เอก-นานาชาติ"

Posted on : 2018-02-28

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ห้องรับรองชั้น 1 อาคาร 1 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร. ปาริชาต สถาปิตานนท์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ อ.ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และ ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เกี่ยวกับการปรับหลักสูตรของคณะนิเทศศาสตร์  ทั้ง 5 หลักสูตร ประกอบด้วย 1. หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต 2. หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต 3. หลักสูตรนิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิต 4. Bachelor of Arts in Communication Management (International Program) 5. Master of Arts in Strategic Communication Management (International Program)

ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ เปิดเผยว่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้ติดตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงมาตลอดว่าจะกระทบกับอาชีพสื่อมวลชนหรือไม่อย่างไร  ซึ่งพบว่าคนเรายังต้องการข้อมูลข่าวสารอยู่  เพียงแต่รูปแบบการรับข่าวสารจะต้องมีความหลากหลายมากขึ้น   ขณะเดียวกันคณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตสื่อมวลชนออกมาจึงจำเป็นจะต้องปรับหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง  ดังนั้นในปีการศึกษา 2561 ทางคณะได้มีการปรับหลักสูตรนิเทศศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ใน 5 สาขา จาก 7 สาขา โดยเป็นการยกเครื่องใหม่ 2 สาขา คือ 1.สาขาวารสารสนเทศ เปลี่ยนชื่อสาขาวิชาวารสนเทศและสื่อใหม่ และ 2.สาขาวิชาการกระจายเสียง เปลี่ยนชื่อสาขาวิชาการออกแบบและผลิตสื่อ ส่วนสาขาที่เหลือเป็นการปรับเล็กน้อย เพื่อให้ทันสมัย  
 
ศ.ดร.ปาริชาต กล่าวต่อไปว่า การปรับครั้งนี้ยังมีการปรับรายวิชาหรือปรับเนื้อหาใหม่ จำนวน  255 รายวิชา จาก 275 รายวิชา ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อดิจิทัล อุตสาหกรรมสื่อและการสื่อสาร  รวมทั้งการก้าวทันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ทั้งในบริบทไทยและกระแสโลกาภิวัฒน์ มุ่งเน้นให้นิสิตมีประสบการณ์การทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น  มีการเพิ่มชั่วโมงการฝึกงานจาก 100 ชั่วโมง เป็น 200 ชั่วโมง  อีกทั้งเปิดโอกาสให้นิสิตศึกษาแบบบูรณาการระหว่างสาขาและระหว่างศาสตร์มากขึ้น โดยสามารถเลือกเรียนรายวิชาของสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาเอก และนำมาคำนวณหน่วยกิตได้ นิสิตเลือกศาสตร์นอกคณะเป็นสาขาวิชาโทได้ เป็นต้น ที่สำคัญการเรียนการสอนเป็นแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง นิสิตเลือกเรียนรายวิชาเลือกในหมวดวิชาชีพพื้นฐาน และวิชาซศึกษาทั่วไปได้โดยอิสระตามความสนใจ  เป็นต้น

“เด็กนิเทศฯ จุฬาฯยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด ขณะที่มีผู้ประกอบการจำนวนมากถามว่าเด็กนิเทศ จุฬาฯหายไปไหน จากข้อมูลขณะนี้พบว่าเด็กนิเทศที่จบปริญญาตรีแล้วส่วนใหญ่จะไม่ทำงาน และจะไปเรียนต่อต่างประเทศ และเด็กเหล่านี้ก็ไม่ได้มองงานแค่ในประเทศเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงต่างประเทศด้วย" ศ.ดร.ปาริชาต กล่าว